บันทึกข้อมูล และหลักฐานจากการค้นคว้า และศึกษาด้านประวัติศาสตร์พบว่ามนุษย์มีการใช้ประโยชน์จากสัตว์มาอย่างยาวนาน ซึ่งรวมถึงในแง่การศึกษาข้อมูลด้านชีววิทยา หรือด้านการแพทย์ เช่น กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา โดยในช่วงศตวรรษที่ 15 - 16 มีหลักการ และความเชื่อที่ว่า มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อื่น ๆ เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณ และมีการรับรู้แล้วเกิดการจดจำ อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษที่ 17 - 18 เป็นช่วงที่มีการศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กันอย่างแพร่หลาย ตลอดจนมนุษย์มีความตระหนักถึงสวัสดิภาพของมนุษย์และสัตว์มากขึ้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1789 มีการตีพิมพ์หนังสือของ Jeremy Bentham ชื่อว่า Introduction to the principles of morals and legislation ซึ่งเป็นการจุดประกายให้ผู้ใช้สัตว์ทดลองตระหนักว่า สัตว์ที่ถูกกระทำย่อมรับรู้ถึงความเจ็บปวด เพียงแต่ไม่สามารถพูดได้เมื่อเทียบกับมนุษย์
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 มนุษย์จึงมีความตื่นตัวและตระหนักถึงความเจ็บปวดของสัตว์ที่ถูกใช้เพื่อการศึกษาทดลองมากขึ้น จนเกิดการรวมตัวกันของประชาชนชาวอังกฤษ เป็นองค์กรที่มีชื่อว่า The Victoria Street Society ในปี ค.ศ. 1875 เพื่อต่อต้านการใช้สัตว์ทดลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเป้าโจมตีไปที่นักสรีรวิทยาที่ใช้สัตว์เป็นโมเดลของการวิจัยต่าง ๆ ซึ่งทำให้ประเทศอังกฤษมีกฎหมายเพื่อช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ทดลองครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1876 ในชื่อ Cruelty to Animal Act ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์หลายคน ก็ได้ค้นพบและตีพิมพ์ข้อมูลที่เกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ อาทิเช่น
- ปี ค.ศ. 1859 : Charles Darwin ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า The Origin of Species ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต รวมถึงการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์อื่น ๆ
- ปี ค.ศ. 1865 : Claude Bernard ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า Introduction à l étude de la médecine expérimetable ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับกับการออกแบบการศึกษาทดลองที่ใช้สัตว์เป็นโมเดลด้านสรีรวิทยา
ความตื่นตัว และความตระหนักต่อสวัสดิภาพของสัตว์ทดลองยิ่งมีมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 - 20 โดยมีการรวมตัวกันของผู้ใช้สัตว์ทดลองเกิดเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้สัตว์ทดลองอย่างมีมนุษยธรรม อันได้แก่
- ปี ค.ศ. 1950 ได้มีการก่อตั้งองค์กรที่ชื่อว่า ว่า The Animal Care Panel (ACP) โดย Dr. Nathan Brewer และกลุ่มสัตวแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทดลอง เริ่มจากการส่งเสริมการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ทดลอง และการให้การดูแลทางด้านสัตวแพทย์อย่างเหมาะสมตามชนิดของสัตว์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1967 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The American Association for Laboratory Animal Science (AALAS) ซึ่งมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการใช้สัตว์ทดลองในสาขาต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา
- ปี ค.ศ. 1956 ได้มีการก่อตั้งองค์กรที่ชื่อว่า International Council for Laboratory Animal Science (ICLAS) โดยความร่วมมือของ International Union of Biological Science (IUBS), United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) และ Council for International Organizations of Medical Science (CIOMS) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริม และพัฒนาการใช้สัตว์ทดลองให้ได้รับมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งในแง่ของการได้รับงานวิจัยที่มีคุณภาพ และในแง่ของสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ทดลอง
- ปี ค.ศ. 1978 ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มทวีปยุโรป ได้มีการก่อตั้งองค์กรที่ชื่อว่า Federation of European Laboratory Animal Science Associations (FELASA) โดยถือเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ทดลอง และพัฒนาการใช้สัตว์ทดลองอย่างมีมาตรฐานในกลุ่มประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป
- ปี ค.ศ. 2001 ประเทศญี่ปุ่นในนาม The Japanese Association for Laboratory Animal Science (JALAS) ได้ดำเนินการจัดงานประชุมวิชาการ ในชื่อ The Japanese Congress of Laboratory Animal Science and Technology 2001 ซึ่งได้จัดให้มีการอภิปรายในหัวข้อ Laboratory Animal Science in Asian Countries -Present and Future" โดยมีตัวแทนของประเทศ 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และฟิลิปปินส์ เข้าร่วม จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งองค์กรที่ชื่อว่า The Asian Federation of Laboratory Animal Science (AFLAS) เพื่อส่งเสริม และพัฒนาการใช้สัตว์ทดลองอย่างมีมาตรฐานและมีสวัสดิภาพเช่นเดียวกันกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2017) มีประเทศสมาชิก จำนวน 11 ประเทศ ได้แก่
1. Chinese Association for Laboratory Animal Science (CALAS)
2. Chinese Taipei Society for Laboratory Animal Science (CSLAS)
3. Indonesia Association for Laboratory Animal Science (IALAS)
4. Japanese Association for Laboratory Animal Science (JALAS)
5. Korean Association for Laboratory Animal Science (KALAS)
6. Laboratory Animal Scientists' Association (India) (LASA India)
7. Laboratory Animal Science Association of Malaysia (LASAM)
8. Philippine Association for Laboratory Animal Science (PALAS)
9. Singapore Association for laboratory Animal Science (SALAS)
10. Sri Lanka Association for Laboratory Animal Association (SLALAS)
11. Thai Association for Laboratory Animal Science (TALAS)
สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งองค์กรในนาม The Thai Association for Laboratory Animal Science (TALAS) เมื่อปี ค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมกลุ่มผุ้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ทดลอง อันได้แก่ สัตวแพทย์ นักปฏิบัติการสัตว์ทดลอง นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย รวมถึงผู้ที่สนใจงานการใช้สัตว์เพื่อการวิจัย การสอน และการทดสอบ ทั่วประเทศ ซึ่งมีการจัดการประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้สัตวแพทย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมของ TALAS ยังสามารถลงชื่อขอรับคะแนนหน่วยกิตจากการเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง (CE VET) ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ TALAS จะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อและหน่วยกิตที่ได้ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมค่าธรรมเนียมนำส่ง ศ.ศ.สพ. ภายใน 30 วันหลังจัดกิจกรรม
ปัจจุบันการใช้สัตว์ทดลอง จะถูกเรียกรวมว่าเป็น “การใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์” ซึ่งครอบคลุมการใช้สัตว์ทดลอง เพื่อการเรียนการสอน เพื่อการศึกษาทดลองหรือเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้สัตว์เพื่อการทดสอบอีกด้วย โดยหลักการการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากล นั่นคือ 3Rs principle ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ The Principles of Humane Experimental Technique ในปี ค.ศ. 1959 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ 2 ท่าน นั่นคือ William Russell มีพื้นฐานเป็นนักสัตววิทยา และ Rex Bruch มีพื้นฐานเป็นนักจุลชีววิทยา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาและออกแบบงานวิจัยที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย
1. หลักการ Replacement เป็นการตั้งคำถามต่อการออกแบบงานที่มีการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และมีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าหรือเทียบเท่าการใช้สัตว์หรือไม่ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น
- Relative replacement คือ การใช้สัตว์ที่มีวิวัฒนาการต่ำกว่าหรือต่ำที่สุด ที่สามารถใช้เป็นโมเดลเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้ เนื่องจากข้อมูลการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการและการพัฒนาการเรื่องระบบประสาทและการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดในสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงขึ้น จะมีโครงสร้างและการทำงานของระบบประสาทที่ซับซ้อนและมีการรับรู้ ตลอดจนการตอบสนองต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น นั่นเอง
- Absolute replacement คือ การไม่ใช้สัตว์ในงานการศึกษาทดลอง ซึ่งอาจเป็นรูปแบบทางเลือกอื่น ๆ ในห้องปฏิบัติการ เช่น การเพาะเลี้ยงเซลล์ การใช้โมเดลในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามหากหลีกเลี่ยงการใช้สัตว์ทดลองไม่ได้ แต่การใช้วิธีทางเลือกอื่น ๆ เพื่อหาผลการศึกษาทดลองนำร่อง (pilot study) ก่อนที่จะทำการทดลองกับสัตว์ ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพงานวิจัย และทำให้เกิดสวัสดิภาพกับสัตว์ทดลองอย่างสูงสุด
2. หลักการ Reduction เป็นการพิจารณาจำนวนสัตว์ทดลองที่เหมาะสม ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้สัตว์ทดลองได้ อย่างไรก็ตามวิธีการทางสถิติที่เหมาะสมจะช่วยให้นักวิจัยใช้จำนวนสัตว์ทดลองที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป สำหรับกรณีที่จำนวนสัตว์ทดลองไม่มีผลกระทบต่อการวิเคราะห์ทางสถิติ แล้วนักวิจัยต้องการลดจำนวนสัตว์ทดลอง และเพิ่มจำนวนครั้งที่ทำหัตถการกับสัตว์ทดลองที่เหลือ เพื่อที่จะช่วยให้ประหยัดงบประมาณหรือเวลาดำเนินงาน จะถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการ Reduction เนื่องจากเป็นการลดจำนวนสัตว์ทดลอง แต่จะทำให้สัตว์ทดลองเกิดความเจ็บปวดมากขึ้น
3. หลักการ Refinement เป็นการวิเคราะห์ และหาวิธีการลดหรือบรรเทาความเครียด และความเจ็บปวดที่จะเกิดกับสัตว์ทดลองจากขั้นตอนการศึกษาทดลอง โดยให้ถือว่าการกระทำใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียด และความเจ็บปวดในมนุษย์ย่อมก่อให้เกิดความเครียด และความเจ็บปวดในสัตว์ด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีการลดหรือบรรเทาความเครียด และความเจ็บปวดมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งนี้ให้พิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสม และไม่กระทบต่อผลการศึกษาทดลอง เช่น ควรมีการวางยาสลบสัตว์ทดลองในการผ่าตัด และมีการให้ยาระงับปวดหลังการผ่าตัดอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้องค์กรอิสระต่าง ๆ ที่ก่อตังขึ้น และมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและพัฒนารูปแบบการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้มีมาตรฐานตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น และหน่วยงานรัฐ ตลอดจนหน่วยงานเอกชนที่ให้ทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้สนับสนุนให้นักวิจัยเอาหลักการ 3Rs มาเป็นหลักการการพิจารณาในเบื้องต้น เพื่อให้การใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์มีความเหมาะสม นอกจากนี้แต่ละประเทศก็ยังมีกฎหมายที่ควบคุมการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ที่มีเนื้อหาปกป้องและคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ทดลอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ 3Rs เช่นเดียวกัน
สามารถสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
1. หนังสือ Principle of Laboratory Animal Science [Elsevier]
2. หนังสือ Assistant Laboratory Animal Technician (ALAT) Training Manual [AALAS]
3. https://www.aalas.org/
4. http://iclas.org/
5. http://www.felasa.eu/about-us
6. http://www.aflas-office.org/
7. http://talas-thailand.org/
8. http://vetcouncil.or.th/index.php?option=com_content&view=category&id=24&Itemid=145
9. https://www.nc3rs.org.uk/
ชุดคำถาม เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สัตว์ทดลอง)
1. กฎหมายแรกที่เป็นกฎหมายควบคุมการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ชื่อว่าอะไร?
ก. The Cruelty to Animal Act
ข. The Principles of Humane Experimental Technique
ค. The Victoria Street Society
ง. The Animal Care Panel
2. หลักการ 3Rs ถือกำเนิดมาจากนักวิทยาศาสตร์ ท่านใด?
ก. Jeremy Bentham และ Claude Bernard
ข. Nathan Brewer และ Rex Bruch
ค. Willian Russell และ Rex Bruch
ง. Willian Russell และ Nathan Brewer
3. สมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลองแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่าอะไร?
ก. AFLAS
ข. TALAS
ค. KALAS
ง. SALAS
4. ถ้าใช้หลักการทางสถิติมาคำนวณจำนวนสัตว์ทดลอง เพื่อให้ได้จำนวนสัตว์ทดลองที่เหมาะสมต่อกลุ่มการทดลองในงานการศึกษาทดลอง จัดว่าเป็นการใช้หลักการใดใน 3Rs principle?
ก. Relative replacement
ข. Absolute replacement
ค. Reduction
ง. Refinement
5. ข้อใดกล่าว ผิด
ก. FELASA เป็นองค์กรหลักเกี่ยวกับการใช้สัตว์ทดลองอย่างมีมาตรฐานในกลุ่มประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป
ข. AALAS เดิมเคยใช้ชื่อว่า The Animal Care Panel (ACP)
ค. ICLAS ถือกำเนิดขึ้นโดยความร่วมมือของ IUBS, UNESCO และ CIOMS
ง. 3Rs principle ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ Introduction to the principles of morals and legislation
เฉลยชุดคำถาม เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สัตว์ทดลอง)
ข้อ 1. ก. The Cruelty to Animal Act
ข้อ 2. ค. Willian Russell และ Rex Bruch
ข้อ 3. ข. TALAS
ข้อ 4. ค. Reduction
ข้อ 5. ง. 3Rs principle ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ Introduction to the principles of morals and legislation