มาตรฐานการวิจัยที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์

มาตรฐานการวิจัยที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์

     ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน มีความก้าวหน้าด้านการแพทย์ เนื่องมาจากการศึกษาทดลองในสัตว์ นั่นคือ มีการใช้สัตว์เป็นตัวแทนของการศึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย ภาวะที่ผิดปกติ หรือโรคในคน เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการรักษาอาการที่เกิดขึ้นในคนได้ แต่ในการศึกษาทดลองใด ๆ อาจมีความแตกต่างกันของสภาวะแวดล้อมอันเป็นปัจจัยนอกเหนือไปจากปัจจัยที่อยู่ในงานการศึกษาทดลอง ซึ่งมีผลทำให้การศึกษาทดลองในรูปแบบเดียวกันอาจได้รับผลการศึกษาทดลองที่แตกต่างกันได้ ดังนั้น เพื่อให้การศึกษาทดลองที่มีการใช้สัตว์มีคุณภาพเท่าเทียมกัน จึงทำให้มีการกำหนดมาตรฐานการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ขึ้น

     เริ่มจากในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ Dr. Nathan Brewer และกลุ่มสัตวแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทดลอง ได้มีการก่อตั้งองค์กรที่ชื่อว่า The Animal Care Panel หรือ ACP ในปี ค.ศ. 1950 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น The American Association of Laboratory Animal Science, AALAS) ก็เริ่มมีการตีพิมพ์หนังสือ ข้อแนะนำสำหรับการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง หรือ The Guide for the Care and Use of Laboratory Animals ฉบับที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1963 เรียกสั้น ๆ ว่า “The Guide” ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้อธิบายมาตรฐานโปรแกรมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองในประเด็นต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน และมีการก่อตั้งองค์กรอิสระที่จะเข้าไปตรวจเยี่ยมสถานที่ดำเนินการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ภายในประเทศ โดยมีชื่อว่า The American Association for the Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care ซึ่งในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ตั้งอยู่นอกประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องการขอการรับรองมาตรฐานการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น The Association for the Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care International หรือ The AAALAC international โดยเพิ่มพันธกิจเป็นการรับรองมาตรฐานการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก

     The AAALAC international เป็นองค์กรเอกชน ที่ไม่หวังผลกำไร และสนับสนุนการปฏิบัติต่อสัตว์ทดลองอย่างมีเมตตาธรรม โดยเป็นองค์กรหนึ่งเดียวที่ให้การรับรองมาตรฐานโปรแกรมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง และให้การรับรองตามความสมัครใจ ทั้งนี้เอกสารที่ใช้อ้างอิงในการประเมินมาตรฐานในปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2017) มี 3 ฉบับ ดังนี้
     1. The Guide for the Care and Use of Laboratory Animals ฉบับที่ 8 ปี ค.ศ. 2011 ซึ่งได้รับการปรับปรุงโดย Committee for the Update of the Guide of the Care and Use of Laboratory Animals ภายใต้การดูแลของ Institute of Laboratory Animal Research, Division on Earth and Life Science, National Research Council of the National Academies สำหรับสัตว์ทดลองทีเป็นสัตว์บกและสัตว์น้ำที่นำมาดูแลและใช้ศึกษาทดลองในห้องเลี้ยงระบบปิด
     2. The Guide for the Care and Use of Agricultural Animals in Research and Teaching ฉบับที่ 3 ปี ค.ศ. 2010 ซึ่งได้รับการปรับปรุงโดย Federation of Animal Science Societies (FASS) ของประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับการใช้สัตว์เกษตรในการวิจัยและการสอน อันได้แก่ โคเนื้อ โคนม ม้า สัตว์ปีก แกะ/แพะ และสุกร
     3. The European Convention for the Protection of Vertebrate Animals Used for Experimental and Other Scientific Purposes (ETS123) ของกลุ่มประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป

     ทั้งนี้หน่วยงานที่มีการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในกลุ่มประเทศภาคพื้นทวีปเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย จะอ้างอิงเอกสารสำหรับการขอรับรองการประเมินมาตรฐาน ลำดับที่ 1. และ 2. ซึ่งเป็นมาตรฐานตามประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีข้อกำหนดที่ชัดเจน และปฏิบัติตามได้ง่าย

     การประเมินของ AAALAC international มีรูปแบบการประเมินจะเป็นการเข้าตรวจเยี่ยม (Site visit) เพื่อติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และต่ออายุการรับรอง ทุก 3 ปี ซึ่งครอบคุลมตั้งแต่ องค์ประกอบของโปรแกรมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย บุคลากรด้านต่าง ๆ อาทิ การสัตวแพทย์ การสัตวบาล การควบคุมหรือกำกับการใช้สัตว์ทดลอง อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน อาคารและระบบเลี้ยงสัตว์ทดลอง จะเห็นว่าคำจำกัดความของคำว่า “โปรแกรม” ของ AAALAC international จะรวมทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองตามที่มีรายละเอียดในเอกสารอ้างอิงที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

ประเด็นที่ 1. โปรแกรมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองที่ดี ควรประกอบไปด้วย
    - การออกระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับหลักการสากล และหลักกฎหมาย
    - การบริหารโปรแกรมที่ดี ในส่วนของภาระหน้าที่ของบุคคลที่เป็น Key persons ซึ่งควรประกอบไปด้วย
        1. ผู้บริหารหน่วยงาน ที่เป็นผู้ดูแลและจัดการทรัพยากรต่าง ๆ สำหรับการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง
        2. สัตวแพทย์ ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักเกี่ยวกับการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง
        3. คณะกรรมการควบคุมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง
    - การบริหารโปรแกรมที่ดี ในส่วนของการดูแลบุคลากร ซึ่งควรประกอบไปด้วย
        1. การฝึกอบรมฯ และการให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
        2. อาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบุคลากร
        3. การคุ้มกันความปลอดภัยให้แก่บุคลากร
        4. การรายงานและสอบสวนเกี่ยวกับสวัสดภาพสัตว์ทดลอง
    - การควบคุมและกำกับดูแลการดูแลและใช้สัตว์ทดลอง
        1. บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง
        2. องค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง
        3. วิธีการพิจารณาโครงการที่ยื่นขอใช้สัตว์ทดลอง
        4. การติดตามและดูแลการใช้สัตว์ทดลองหลังจากได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ
    - การวางแผนรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ

ประเด็นที่ 2. การจัดการสภาพแวดล้อมและดูแลสัตว์ทดลอง ควรประกอบไปด้วย
    - สภาพแวดล้อมที่ดี ต้องมีการดูแลและควบคุมปัจจัยต่าง ๆ อันได้แก่
        1. สิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์ (Microenvironment) และสิ่งแวดล้อมระดับถัดมา (Macroenvironment)
        2. อุณหภูมิและความชื้น
        3. การระบายอากาศ และคุณภาพของอากาศ
        4. แสงสว่าง
        5. เสียงและแรงสั่นสะเทือน
    - ที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์ อันได้แก่
        1. การจัดการสิ่งแวดล้อมในกรงเลี้ยงสัตว์
        2. การเพิ่มพูนสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของสัตว์
        3. การจัดการที่พักหรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์กลางแจ้ง
        4. การจัดการสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของสัตว์
        5. การจัดการพื้นที่ต่อตัวตามความต้องการพื้นฐานของสัตว์
    - การจัดการที่ดีอื่น ๆ  อันได้แก่
        1. การจัดให้สัตว์อยู่รวมกันตามพฤติกรรมการรวมกลุ่ม
        2. การสัตวบาล 
        3. การจัดการประชากรสัตว์

ประเด็นที่ 3. การดูแลสุขภาพสัตว์ทดลองโดยสัตวแพทย์ ครอบคลุมในประเด็น
    - การจัดหา แหล่งที่มา และการขนส่งสัตว์
    - การจัดการและป้องกันโรคให้แก่สัตว์
    - การจัดการและดูแลสุขภาพสัตว์โดยสัตวแพทย์
    - การวางแผนและการดำเนินการเกี่ยวกับการศัลยศาสตร์
    - การประเมินและติดตามความเจ็บปวดและความทรมาณ
    - การวางยาสลบและการให้ยาระงับปวด
    - การการุณยฆาต

ประเด็นที่ 4. การบริหารจัดการสถานที่ใช้สัตว์ ควรประกอบไปด้วย
    - การพิจารณาสถานที่ตั้งและการบริหารงานการดูแลและการใช้สัตว์
    - การแบ่งส่วนพื้นที่ใช้งาน 
    - การจัดการและก่อสร้างพื้นที่ใช้สัตว์
    - การจัดการและก่อสร้างพื้นที่สนับสนุนอื่น ๆ

     การประเมินและการรับรองมาตรฐานของ AAALAC international สะท้อนให้เห็นคุณภาพของงานวิจัยและสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ทดลอง ซึ่งก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสามารถทำวิจัยในสัตว์ทดลองที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับหน่วยงานนานาชาติ และมีผลพลอยได้ที่ดีต่องานวิจัยที่จะสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้ แต่อย่างไรก็ตาม AAALAC international มีนโยบายให้หน่วยงานที่ใช้สัตว์ทดลองและจะขอรับการรับรองมาตรฐาน จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ ของรัฐหรือระดับท้องถิ่นด้วย นั่นหมายถึง หน่วยงานที่มีการใช้สัตว์ทดลองในประเทศไทย ที่ขอการรับรองมาตรฐานจาก AAALAC international จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้มีมาตรฐานทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติ

     สำหรับมาตรฐานการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองของประเทศไทย ตามที่มีประกาศในกฎกระทรวงหลังจากที่มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2558 (ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2560) จะประกอบไปด้วย
    - มาตรฐานคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ของสถาบัน
    - ข้อกำหนดเบื้องต้นการออกแบบสถานที่เลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
    - เกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอโครงการขอใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และแบบฟอร์มฯ

     ในการดำเนินการขอการรับรองมาตรฐานทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติ จะเห็นได้ว่า “สัตวแพทย์” จะมีบทบาทและหน้าที่สำคัญมากในการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเป็นผู้ที่เรียนและมีความรู้เกี่ยวกับสัตว์มาโดยเฉพาะ ดังนั้นแล้ว สัตวแพทย์จึงควรมีความเข้าใจในมาตรฐานการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติและระดับชาติ เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยที่ใช้สัตว์ให้เกิดงานที่มีคุณภาพและสัตว์ทดลองได้รับการดูแลให้มีสวัสดิภาพที่ดีไปพร้อมกัน

สามารถสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

1. https://www.aaalac.org/
2. http://labanimals.net/index.php

 

ชุดคำถาม เรื่อง มาตรฐานการวิจัยที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
1.  มาตรฐานการดูแลและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย สอดคล้องกับกฎหมายใด?
     ก. พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558
     ข. พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
     ค. พระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545
     ง. พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2557

2. The Guide for the Care and Use of Laboratory Animals ที่ใช้อ้างอิงในปัจจุบันเป็นฉบับใด?
     ก. ฉบับที่ 7 ปี ค.ศ. 1996
     ข. ฉบับที่ 8 ปี ค.ศ. 2011
     ค. ฉบับที่ 2 ปี ค.ศ. 1999
     ง. ฉบับที่ 3 ปี ค.ศ. 2010

3. The Guide for the Care and Use of Agricultural Animals in Research and Teaching ไม่ครอบคลุมสัตว์ชนิดใด?
     ก. โคเนื้อและโคนม
     ข. ม้า
     ค. สัตว์น้ำ
     ง. แกะและแพะ

4. การรับรองมาตรฐาน และต่ออายุการรับรองจาก AAALAC international จะต้องทำทุกกี่ปี?
     ก. 1 ปี
     ข. 2 ปี
     ค. 3 ปี
     ง. 5 ปี

5. ข้อใดกล่าว ถูก
     ก. การวางแผนรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ อยู่ในประเด็น 2. การจัดการสภาพแวดล้อมและดูแลสัตว์ทดลอง
     ข. การจัดการสภาพแวดล้อมที่ดี อยู่ในประเด็น 4. การบริหารจัดการสถานที่ใช้สัตว์
     ค. การแบ่งส่วนพื้นที่ใช้งาน อยู่ในประเด็น 1. โปรแกรมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองที่ดี
     ง. การการุณยฆาต อยู่ในประเด็น 3. การดูแลสุขภาพสัตว์ทดลองโดยสัตวแพทย์

 

 

 

 

 

เฉลยชุดคำถาม เรื่อง มาตรฐานการวิจัยที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
ข้อ 1.     ก. พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558
ข้อ 2.     ข. ฉบับที่ 8 ปี ค.ศ. 2011
ข้อ 3.     ค. สัตว์น้ำ
ข้อ 4.     ค. 3 ปี
ข้อ 5.     ง. การการุณยฆาต อยู่ในประเด็น 3. การดูแลสุขภาพสัตว์ทดลองโดยสัตวแพทย์