การดูแลและควบคุมการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์

การดูแลและควบคุมการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์

     ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้ พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2558 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558 โดยมีความเกี่ยวข้องและเป็นจุดที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับวิชาชีพสัตวแพทย์ในกลุ่มผู้วิจัยที่ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ ในมาตรา 22(4) ระบุว่า “สถานที่ดำเนินการต้องมีสัตวแพทย์ซี่งได้รับใบอนุญาติเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งจากสัตวแพทยสภา และมีประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลองตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประจำ ณ สถานที่ดำเนินการอย่างน้อยหนึ่งคน” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังกำหนดคำจำกัดความต่าง ๆ ที่สัตวแพทย์ควรรู้ไว้ใน มาตรา 3 ดังนี้

     “สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์” หมายความว่า สัตว์ที่มีการเลี้ยงหรือมีการนำมาใช้เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ตามชนิดและประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง
     “สัตว์” หมายความว่า 
          (1) สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังซึ่งไม่ใช่มนุษย์ 
          (2) ตัวอ่อนสิ่งมีชีวิตตาม (1) ที่เกิดขึ้นหลังจากไข่ได้รับการผสมกับเชื้ออสุจิจนผ่านระยะเวลาที่มีการเจริญเติบโตจนถึงครึ่งหนึ่งของระยะเวลาการตั้งท้องหรือการฟักตัวของไข่ แล้วแต่ชนิดของสัตว์
          (3) เซลล์ของสิ่งมีชีวิตตาม (1) ซึ่งไม่ใช่เซลล์สืบพันธุ์ ที่สามารถพัฒนาเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นตัวอ่อนหรือเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของอวัยวะต่อไปได้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมไปจากเดิม
          (4) สิ่งมีชีวิตอื่นที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประสาทรับรู้ถึงความเจ็บปวดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

     “งานทางวิทยาศาสตร์” หมายความว่า งานวิจัย งานทดสอบ งานผลิตชีววัตถุ งานสอน งานทดลอง การดัดแปลงพันธุกรรม การโคลนนิ่ง และการทำเซลล์ต้นกำเนิด ที่มีการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่หมายความรวมถึงงานที่มีการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ

     “การดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์” หมายความว่า การนำสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์มาเลี้ยง ใช้ ผลิต หรือกระทำการใด ๆ เพื่องานทางวิทยาศาสตร์

     “ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์” หมายความว่า การกระทำเพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์ด้วยวิธีผสมพันธุ์สัตว์ สืบสายพันธุ์สัตว์ หรือเพาะขยายพันธุ์สัตว์ เพื่อให้บริการหรือใช้งานทางวิทยาศาสตร์

     “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตใช้สัตว์หรือผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ แล้วแต่กรณี

     “สถานที่ดำเนินการ” หมายความว่า อาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่อื่นใดที่มีการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงพื้นที่โดยรอบอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ด้วย

     ในก่อนหน้าที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ การดำเนินการกับสัตว์ทดลองบางส่วนไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลโดยสัตวแพทย์ ทำให้สัตว์ทดลองขาดสวัสดิภาพและขาดการดูแลที่เหมาะสมตามหลักการอายุรศาสตร์สัตว์ทดลอง เว้นเสียแต่ว่าเป็นหน่วยงานที่มีการใช้สัตว์ทดลองและประสงค์ขอการรับรองมาตรฐานสากลจาก AAALAC international จึงจะมีการจ้างสัตวแพทย์ไว้ประจำหน่วยงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลและควบคุมการใช้สัตว์ทดลอง มีผลทำให้การดำเนินการใด ๆ ต่อสัตว์ทดลอง จะต้องได้รับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสัตว-แพทย์ก่อนเสมอ ส่งผลโดยตรงต่องานวิจัยและสัตว์ทดลอง คือ ทำให้ได้งานวิจัยที่มีคุณภาพ และทำให้สัตว์ทดลองมีความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้ยังมีผลทางอ้อม คือ สัตวแพทย์เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในการวิจัยที่มีการใช้สัตว์ทดลอง เพราะถือว่าเป็นผู้ที่เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาโดยตรง

     การรับรองมาตรฐานสากลจาก AAALAC international ระบุให้หน่วยงานที่มีการใช้สัตว์ทดลองควบคุมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองผ่านชุดคณะกรรมการที่เรียกว่า Institutional Animal Care and Use Committee (IACUC) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโปรแกรมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองทั้งหมด โดยคณะกรรมการควรประกอบไปด้วย

     1. สัตวแพทย์ อย่างน้อย 1 ท่าน เป็นผู้ที่ได้รับวุฒิบัติ (ยกตัวอย่างเช่น ACLAM, ECLAM, JCLAM, KCLAM) หรือเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมหรือผ่านการฝึกอบรม และมีประสบการณ์ในด้านวิทยาศาสตร์และอายุรศาสตร์สัตว์ทดลอง หรือมีประสบการณ์การใช้สัตว์ที่สถาบัน อย่างใดอย่างหนึ่ง
     2. นักวิทยาศาสตร์ อย่างน้อย 1 ท่าน เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทดลอง
     3. ผู้ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ อย่างน้อย 1 ท่าน เป็นผู้ที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มาจากภายในหรือภายนอกสถาบันก็ได้
     4. ผู้ที่เป็นตัวแทนสาธารณะ อย่างน้อย 1 ท่าน เป็นผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับสัตว์ทดลอง แต่ไม่ควรเป็นผู้ใช้สัตว์ทดลอง และไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งในทางตรงและทางอ้อม

     โดยชุดคณะกรรมการฯ ดังกล่าวอาจมีจำนวน 4 ท่าน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับขนาดของโปรแกรมการดูแล และการใช้สัตว์ทดลอง และจำนวนโครงการที่มีการดำเนินการกับสัตว์ทดลองในหน่วยงาน และคณะกรรมการฯ อาจได้รับค่าตอบแทนได้พอประมาณ แต่ต้องไม่มากเกินจนเป็นรายได้หลัก ทั้งนี้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ในการควบคุมและตรวจสอบโปรแกรมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองของหน่วยงาน อันได้แก่

     1. การพิจารณาโครงการที่ยื่นขออนุมัติใช้สัตว์ทดลอง ในประเด็นต่าง ๆ ที่ครอบคลุมสวัสดิภาพของสัตว์ทดลองในโครงการทุกด้าน อาทิเช่น 
          - หลักการทางวิทยาศาสตร์และวิธีการศึกษาทดลองกับสัตว์ทดลอง
          - การบรรเทาหรือระงับความเจ็บปวดให้แก่สัตว์ทดลอง
          - จุดสิ้นสุดของการศึกษาทดลอง และ จุดยุติการศึกษาทดลองที่มีมนุษยธรรม
          - การทำการุณยฆาตสัตว์ทดลอง

     2. การติดตามการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองหลังการอนุมัติโครงการ เพื่อให้โปรแกรมการดูแล และการใช้สัตว์ทดลองของหน่วยงานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และไม่เกิดปัญหาที่กระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์ทดลอง รวมทั้งความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานด้วย อาทิเช่น
          - การตรวจสอบสถานที่ดำเนินการกับสัตว์ทดลอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
          - การทบทวนโปรแกรมการดูแลและการใช้สัตว์ทดลองของหน่วยงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
          - การทบทวนบันทึกการดูแลและใช้สัตว์ทดลองแต่ละโครงการ อย่างสม่ำเสมอ
          - การทบทวนบันทึเหตุการณ์ที่กระทบต่อสัตว์ทดลอง อย่างสม่ำเสมอ
          - การทบทวนบันทึกในประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานกับสัตว์ทดลอง
          - การตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ทดลอง

     ผู้บริหารของหน่วยงานที่มีการใช้สัตว์ทดลอง จะมอบหมายภาระหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการฯ เป็นผู้ดำเนินการเสมือนเป็นผู้ที่ตรวจและประเมินภายใน ซึ่งจะต้องประเมินและควบคุมดูแลส่วนประกอบต่าง ๆ ในโปรแกรมให้มีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้

     หลังจากที่มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2558 และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย คือ สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ หรือ สพสว. (เดิมชื่อ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ หรือ สลช.) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2558 เรื่อง คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ก็เป็นการเพิ่มพูนบทบาทและหน้าที่ของสัตวแพทย์เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลอย่างเป็นทางการ โดยมีรายละเอียด องค์ประกอบและคุณสมบัติของ คกส. ไว้ในประกาศ ข้อ 5 “กรณีที่มีสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ผู้รับผิดชอบต้องจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแล ไม่น้อยกว่า 7 คน โดยมีองค์ประกอบและคุณสมบัติ ดังนี้

          (1) ผู้รับผิดชอบ หรือผู้ที่ผู้รับผิดชอบมอบหมาย หรือผู้บริหารหน่วยงาน เป็นประธาน
          (2) สัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์การเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 1 คน
          (3) ผู้ที่มีประสบการณ์วิจัยที่ใช้สัตว์ ไม่น้อยกว่า 2 คน
          (4) ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นที่ครอบคลุมงาน เช่น นักสถิติ นักเคมี นักคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เป็นกรรมการไม่น้อยกว่า 1 คน
          (5) ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาวิทยาศาสตร์ หรือผู้ที่ไม่สังกัดหน่วยงานเป็นกรรมการไม่น้อยกว่า 1 คน (อาจเป็นบุคคลเดียวกันได้) 
          (6) ผู้กำกับดูแลสถานที่ดำเนินการ เป็นกรรมการและเลขานุการ

     กรรมการคนหนึ่งอาจมีคุณสมบัติมากกว่า 1 ข้อ” ทั้งนี้กำหนดให้ คกส. มีหน้าที่ ตามประกาศ ข้อ 7 “คณะกรรมการกำกับดูแล ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้สอดคล้องกับจรรณยาบรรณ โดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (1) จัดทำแผนพัฒนาและแผนงบประมาณของหน่วยเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับจรรณยาบรรณและมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์ เสนอต่อผู้บริหารหน่วยงาน
          (2) พิจารณาข้อเสนอโครงการขอใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่ออนุมัติ หรือไม่อนุมัติ หรือให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อเสนอโครงการขอใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
          (3) ติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการพิจารณารับรองแล้ว และพิจารณาสั่งแก้ไข ระงับ ยับยั้ง หรือยุติโครงการ ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามข้อเสนอโครงการ
          (4) กำกับดูแลให้มีการดูแลสุขภาพสัตว์โดยสัตวแพทย์ประจำสถานที่ดำเนินการ
          (5) ตรวจสอบและกำกับดูแลสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์ ให้มีการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปตามจรรณยาบรรณ  
          (6) จัดทำแผนและดำเนินการให้มีการพัฒนาบุคลากร
          (7) จัดทำแผนและดำเนินการให้มีการเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรได้เข้าใจ เรื่อง จรรณยาบรรณ มาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์ และพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558
          (8) กำหนดมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure, SOP) การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแล และมาตรฐานการปฏิบัติงานการเลี้ยงและใช้สัตว์ของสถานที่ดำเนินการ
          (9) จัดทำรายงานการดำเนินการต่อสัตว์ทุก 6 เดือน และกำกับการจัดทำสถิติการเลี้ยงและใช้สัตว์ทุก 6 เดือนของผู้กำกับดูแลสถานที่ดำเนินการ เพื่อรายงานต่อเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และจัดทำสรุปรายงานประจำปี
          (10) ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการจรรณยาบรรณของหน่วยงาน และวินิจฉัยการกระทำผิดจรรณยาบรรณ
          (11) เสนอผู้บริหารหน่วยงานเพื่อแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อช่วยพิจารณาโครงการ ตามความจำเป็นและความเหมาะสม
          (12) ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง

     ในการดำเนินงานการวิจัยที่ใช้สัตว์ทดลองของประเทศไทยยุคปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2560) ถือได้ว่ามีระบบตรวจสอบการดำเนินการและค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยสัตวแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทดลองก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะช่วยสนุบสนุนให้มีการปฏิบัติงานกับสัตว์ทดลองอย่างเหมาะสมตามหลักการด้านอายุรศาสตร์สัตว์ทดลอง รวมถึงมีส่วนช่วยในการผลักดันให้มีการใช้สัตว์ทดลองเป็นไปอย่างมีมนุษยธรรม

สามารถสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
     1. พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558
     2. เประกาศ ระเบียบตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 (ฉบับ ก.ค. 2559)
     3. หนังสือ The Guide for the Care and Use of Laboratory Animals (8th edition, 2011)
     4. https://www.aaalac.org/
     5. http://labanimals.net/index.php

 

ชุดคำถาม เรื่อง การดูแลและควบคุมการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
1.  พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2558 ประกาศใช้เมื่อใด?
    ก. 1 มกราคม พ.ศ. 2558
    ข. 1 มกราคม พ.ศ. 2560
    ค. 13 มีนาคม พ.ศ. 2558
    ง. 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

2. ข้อใดต่อไปนี้ ไม่ใช่ งานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งหมด?
    ก. งานวิจัย การทำเซลล์ต้นกำเนิด
    ข. การโคลนนิ่ง การเลี้ยงเพื่อบริโภค
    ค. งานทดสอบ งานผลิตชีววัตถุ 
    ง. งานสอน งานทดลอง

3. ประกาศ เรื่อง คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแล ไม่น้อยกว่ากี่คน?
    ก. 4 คน
    ข. 5 คน
    ค. 7 คน
    ง. 12 คน

4. IACUC ย่อมาจาก?
    ก. Institutional Animal Care and Use Committee
    ข. International Animal Care and Use Council
    ค. Institutional Animal Care and Use Council
    ง. International Animal Care and Use Committee 

5. ประกาศ เรื่อง คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแล มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติกี่ข้อ?
    ก. 4 ข้อ
    ข. 5 ข้อ
    ค. 7 ข้อ
    ง. 12 ข้อ

 

 

 

 

 

เฉลยชุดคำถาม เรื่อง การดูแลและควบคุมการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
ข้อ 1.     ค. 13 มีนาคม พ.ศ. 2558
ข้อ 2.     ข. การโคลนนิ่ง การเลี้ยงเพื่อบริโภค
ข้อ 3.     ค. 7 คน
ข้อ 4.     ก. Institutional Animal Care and Use Committee
ข้อ 5.     ง. 12 ข้อ