การจัดการสัตว์ทดลองอย่างเหมาะสมสำหรับการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อสิ้นสุดงานทางวิทยาศาสตร์ จะมีแนวทางการดำเนินการ แยกออกเป็น 2 ทางเลือกหลัก คือ
1. การเลี้ยงหรือใช้สัตว์ทดลองต่ออย่างเหมาะสม ซึ่งมีหลายแนวทางย่อยที่จะดำเนินการกับสัตว์ทดลอง อาทิเช่น การอุทิศสัตว์ทดลองให้แก่งานทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมในการใช้สัตว์ทดลองนั้นต่อไปได้ หรือ การมอบให้ผู้ที่สนใจนำสัตว์ทดลองไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ต้องมีกระบวนการคัดกรองผู้รับเลี้ยงอย่างเข้มงวดและเหมาะสม รวมทั้งจะต้องมีการตรวจสุขภาพสัตว์ทดลองว่า มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี และไม่มีสิ่งที่เป็นอันตรายติดไปกับตัวสัตว์ทดลองนั้น ๆ ซึ่งวิธีการจัดการสัตว์ทดลองวิธีนี้ จะปรับใช้กับสัตว์ทดลองที่มีอายุขัยยาวนาน เช่น สุนัข แมว
2. การทำให้สัตว์ทดลองตายอย่างสงบ ด้วยวิธีการที่สามารถยอมรับได้หรือมีมนุษยธรรมกับสัตว์ทดลอง นั่นคือ สัตว์ทดลอง จะต้องมีสวัสดิภาพ และไม่มีความเครียดหรือความเจ็บปวดในระหว่างที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย ซึ่งวิธีการจัดการสัตว์ทดลองวิธีนี้ จะปรับใช้กับสัตว์ทดลองที่มีอายุขัยสั้น เช่น สัตว์ฟันแทะ ปลา สัตว์ปีก
การทำให้สัตว์ทดลองตายอย่างสงบ ใช้คำศัพท์ คือ Euthanasia ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ นั่นคือ “eu” มีความหมายว่า “good” และ “Thanatos” มีความหมายว่า “death” เมื่อรวมกันแล้วจึงได้ความหมายว่า “Good death” ในอดีตอาจมีการใช้คำว่า “put down” หรือ “put to sleep” หรือ “sacrifice” ทั้งนี้ การใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน จะเลือกใช้คำว่า “Euthanasia” โดยมีการขยายความไว้ว่า “Euthanasia เป็นการทำให้สัตว์ทดลองตายอย่างสงบ โดยปราศจากความเครียดและความเจ็บปวด” ซึ่งในภาษาไทยนิยมนิยามคำว่า Euthanasia ว่า “การการุณยฆาต”
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่มีการใช้สัตว์ทดลองในงานวิจัยใด ๆ แต่สัตว์ทดลองเกิดอาการป่วยหรือผลข้างเคียงจากการศึกษาทดลองจนเกินกว่าที่สัตว์ทดลองจะหายจากอาการดังกล่าวได้ จะต้องมีการประเมินอาการโดยสัตวแพทย์ที่มีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของสัตว์ทดลองนั้น เพื่อพิจารณาและให้ข้อแนะนำต่อเจ้าของงานวิจัย และดำเนินการกับสัตว์ทดลองอย่างเหมาะสมตามที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองของหน่วยงาน (Institutional Animal Care and Use Committee, IACUC) ซึ่งโดยมากจะระบุแนวทางการดำเนินการเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำสัตว์ทดลองออกจากกระบวนการวิจัย แล้วให้การรักษาสัตว์ทดลองจนหายป่วย หรือให้ทำการุณยฆาตสัตว์ทดลอง
การทำการุณฆยาตสำหรับสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ที่ถือเป็นมาตรฐานสากลในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2560) จะอ้างอิงตามเอกสาร The AVMV Guideline on Euthanasia of Animals: 2013 Edition ที่มีรายละเอียดวิธีการการุณฆาตสัตว์เอาไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย
- หลักการพิจารณาและดำเนินการการุณยฆาต
- รายละเอียดวิธีการการุณยฆาตในแต่ละวิธี
- วิธีการุณยฆาตที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็น
1. สัตว์ที่เลี้ยงเป็นเพื่อนหรือเข้ากับคนได้ (Companion animals)
2. สัตว์ทดลอง (Laboratory animals)
3. สัตว์เกษตรที่ผลิตเพื่อการบริโภคหรือเพื่อเยื่อใย (Animals farmed for food and fiber)
4. สัตว์ตระกูลม้า (Equids)
5. สัตว์ปีก (Avians)
6. ปลามีครีบและสัตว์ไม่มีกระดูกสัตหลังที่อาศัยในน้ำ (Finfish and Aquatic invertebrate)
7. สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติหรือถิ่นกำเนิด (Captive or Free-ranging nondomestic animals)
- นอกจากนี้ ในรายละเอียดวิธีการ ยังมีการระบุรายละเอียดถึง
1. วิธีการที่ยอมรับได้ (Acceptable methods)
2. วิธีการที่ยอมรับได้แต่มีเงื่อนไข (Acceptable methods with conditions)
3. วิธีการที่ไม่เป็นที่ยอมรับ (Unacceptable methods)
ซึ่งวิธีการที่สามารถเลือกมาดำเนินการได้ ในการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประเภทสัตว์ฟันแทะ ได้แก่
1. วิธีการที่ยอมรับได้ จะมีเพียง 1 วิธีการ คือ
1.1 การใช้สารเคมีที่ไม่ใช่สารสำหรับการสูดดม (Non-inhaled agents) อันได้แก่ สารกลุ่ม Barbiturates และ Barbituric acid derivatives
- การใช้สารกลุ่ม Barbiturates หรืออนุพันธ์ของสารกลุ่มนี้ ให้แก่สัตว์ทดลอง แบบการวางยาสลบเกินขนาด ผ่านทางการฉีดเข้าช่องท้องให้แก่สัตว์ทดลอง
- การใช้สารกลุ่ม Barbiturates หรืออนุพันธ์ของสารกลุ่มนี้ ให้แก่สัตว์ทดลอง ร่วมกับการให้สารกลุ่มอื่น ๆ เช่น Dissociative agents หรือ Anticonvulsants โดยต้องกำหนดปริมาณสารกลุ่ม Barbiturates ให้เหมาะสม และต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเป็นไปได้ ควรใช้ Barbiturates หรืออนุพันธ์เกินขนาดจะดีกว่า
2. วิธีการยอมรับได้แต่มีเงื่อนไข
2.1 การใช้สารเคมีสำหรับให้ผ่านการสูดดม (Inhaled agents)
- การใช้ Inhaled anesthetics โดยการให้ยาสลบเกินขนาด อาทิเช่น Isofurane Sevoflurane หรือ Halothane ซึ่งวิธีการนี้จะต้องมีการตรวจสัตว์ทดลองให้มั่นใจว่า “ตาย” แล้วแน่นอน และปล่อยให้สัตว์ทดลองอยู่ในกล่องวางยาสลบและเปิดให้มียาสลบต่อเนื่องไปอีกหลังจากที่พบว่าสัตว์ทดลองตายอย่างน้อย 5 – 10 นาที ในบางกรณีอาจมีการใช้การวางยาสลบด้วย Inhaled anesthetics จนสัตว์ทดลองสลบ แล้วจึงย้ายสัตว์ทดลองไปใส่ในกล่องการุณยฆาตด้วย CO2 เพื่อให้สัตว์ทดลองไม่เกิดความเครียดและกลั้นหายใจเมื่อได้กลิ่นของ CO2
- การใช้ CO2 โดยการใช้ CO2 ที่มาจากแทงก์ โดยนำสัตว์ทดลองวางลงไปในกล่องการุณยฆาตด้วย CO2 แล้วจึงค่อย ๆ ปล่อยให้ CO2 ไหลออกจากแทงก์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของปริมาตรของกล่องที่ใส่สัตว์ทดลองต่อนาที ทั้งนี้ห้ามไม่ให้มีการเติม CO2 ไว้จนเต็มกล่องแล้ววางสัตว์ทดลองลงไปในกล่อง ซึ่งเนื่องจากจะทำให้สัตว์ทดลองทุรนทุราย เกิดความเครียดและความเจ็บปวดระหว่างการทำการุณยฆาต ทั้งนี้เมื่อสัตว์ทดลองสลบและตรวจพบว่า “ตาย” อาจมีการใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การเจาะช่องอกของสัตว์ทดลอง เพื่อให้อากาศภายนอกเข้าช่องอกและทำให้ปอดหยุดทำงาน
2.2 การใช้สารเคมีที่ไม่ใช่สารสำหรับการสูดดม (Non-inhaled agents)
- การใช้สาร Tribromoethanol หรือ Ethanol ไม่ค่อยนิยมกันมาก ซึ่งยอมรับให้ใช้กันได้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีการที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตามจะต้องได้รับการพิจารณาและทบทวนจากคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองของหน่วยงานอย่างเข้มงวด เนื่องจากมีเงื่อนไขและประเด็นที่ต้องพิจารณาในส่วนของการจัดเตรียมสาร การจัดเก็บสาร วิธีการและปริมาณสารที่ให้แก่สัตว์ทดลองด้วย
2.3 การใช้วิธีการทางกายภาพ (Physical methods)
- วิธี Cervical dislocation เป็นการดึงให้กะโหลกของสัตว์ทดลองแยกออกจากกระดูกสันหลังชิ้นที่ 1 ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการฝึกอบรมมาอย่างเชี่ยวชาญ และต้องปฏิบัติงานอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่เกิน 5 – 10 วินาที โดยสัตว์ทดลองที่จะสามารถทำการุณยฆาตด้วยวิธีนี้ได้ จะต้องมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 200 กรัม อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำในการฝึกปฏิบัติ คือ ให้ฝึกกับซากสัตว์ทดลองหรือทำการวางยาสลบสัตว์ทดลองก่อนจนเกิดความเชี่ยวชาญ จึงจะดำเนินการกับสัตว์ทดลองที่มีชีวิตได้
- วิธีการ Decapitation เป็นการตัดคอโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Guillotines ในการตัดคอสัตว์ทดลอง ทั้งนี้จะต้องมีการฝึกสัตว์ทดลองให้คุ้นชินกับการถูกจับบังคับให้เข้าเครื่อง Guillotines ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการฝึกอบรมมาอย่างเชี่ยวชาญ และต้องปฏิบัติงานอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่เกิน 5 – 30 วินาที โดยจะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ Guillotines มีความคมและสะอาดก่อนการดำเนินการระหว่างตัวสัตว์ทดลองทุกครั้ง โดยมีข้อแนะนำสำหรับผู้ฝึกปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการใช้วิธี Cervical dislocation
3. วิธีการที่ไม่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
3.1 การใช้สารเคมีสำหรับให้ผ่านการสูดดม (Inhaled agents)
- การใช้ Nitrogen หรือ Argon เนื่องจากสารทั้งสองจะออกฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองขาดสติและตาย เมื่อมีระดับความเข้มข้นของ O2 ในร่างกายสัตว์ทดลองน้อยกว่าร้อยละ 2 ซึ่งจะทำให้ใช้ระยะเวลานานในการทำการุณยฆาต
3.2 การใช้สารเคมีที่ไม่ใช่สารสำหรับการสูดดม (Non-inhaled agents)
- การใช้สาร Potassium chloride อย่างเดียว โดยการให้ทางเส้นเลือดดำหรือเข้าสู่หัวใจโดยตรง
- การใช้สาร Neuromuscular blocking agents อย่างเดียว เพื่อการุณยฆาตสัตว์ทดลอง
- การใช้สาร Barbiturates ร่วมกับ Neuromuscular blocking agents ในไซริงค์เดียวกัน ซึ่งสารกลุ่ม Neuromuscular blocking agents จะออกฤทธิ์ก่อน ทำให้สัตว์ทดลองเป็นอัมพาต ก่อนที่สารกลุ่ม Barbiturates ออกฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองสลบ
- การใช้สาร Opioids ซึ่งทำให้สัตว์ทดลองตายอย่างช้า ๆ และต้องใช้ในปริมาณที่สูงมาก
- การใช้สาร Urethane ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า
- การใช้สาร alpha-Cholralose อย่างเดียว
ในส่วนของการทำการุณยฆาตสัตว์ทดลองที่เป็นลูกสัตว์ฟันแทะ สามารถเลือกใช้วิธีการตามที่ได้กล่าวมาได้
1. วิธีการที่ยอมรับได้ ในกรณีที่สัตว์ทดลองเป็นตัวอ่อนที่อยู่ในท้องของแม่ ให้ถือว่าการทำการุณยฆาตแม่สัตว์ทดลองดังกล่าว จะทำให้ลูกสัตว์ทดลองดังกล่าวตายอย่างสงบด้วย
2. วิธีการยอมรับได้แต่มีเงื่อนไข เป็นวิธีการทางกายภาพ ในกรณีลูกสัตว์แรกเกิด (อายุไม่เกิน 7 วัน) สามารถใช้วิธี Decapitation โดยใช้กรรไกรที่มีความคม และทำความสะอาดคมของกรรไกรระหว่างตัวสัตว์ทดลองได้ แต่ไม่นิยมใช้สารเคมีสำหรับให้ผ่านการสูดดม เนื่องจากปอดของลูกสัตว์ทดลองที่เกิดใหม่จะทำงานไม่เต็มที่ ทำให้ระยะเวลาในการทำการุณยฆาตนามากขึ้นกว่าสัตว์ทดลองที่โตเต็มวัย
ในการทำการุณยฆาตสัตว์ทดลองจะต้องตรวจสอบสัตว์ทดลองให้แน่ใจว่าสัตว์ทดลองได้ตายแล้วจริง ทั้งนี้ควรตรวจสอบจากการทำงานของ 1. หัวใจและระบบหมุนเวียนเลือด 2. ระบบทางเดินหายใจ และ 3. ระบบประสาท หากสัตว์ทดลองขาดการรับรู้ หยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น จึงจะส่งซากสัตว์ทดลองไปกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
สามารถสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
1. หนังสือ Principle of Laboratory Animal Science [Elsevier]
2. หนังสือ Assistant Laboratory Animal Technician (ALAT) Training Manual [AALAS]
3. หนังสือ The Guide for the Care and Use of Laboratory Animals 8th edition 2011
4. หนังสือ The AVMV Guidelines on for Euthanasia of Animals: 2013 Edition
ชุดคำถาม เรื่อง การการรุณยฆาตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (Euthanasia)
1. หนังสือเล่มใดต่อนี้ ใช้อ้างอิงเพื่อการทำการุณยฆาตสัตว์ทดลอง?
ก. The AVMV Guideline on Euthanasia of Animals: 2013 Edition
ข. The FELASA Guideline on Euthanasia of Animals: 2013 Edition
ค. The AALAS Guideline on Euthanasia of Animals: 2013 Edition
ง. The TALAS Guideline on Euthanasia of Animals: 2013 Edition
2. ข้อใดต่อไปนี้ เป็นการการุณยฆาตด้วย วิธีการที่ยอมรับได้ ในสัตว์ฟันแทะ?
ก. Overdose of Isofurane, Inhalation
ข. Potassium chloride only, IV injection
ค. Cervical dislocation, Body weight < 200 grams
ง. Overdose of Barbiturates, IP injection
3. ข้อใดต่อไปนี้ เป็นการการุณยฆาตด้วย วิธีการที่ไม่ยอมรับ ในสัตว์ฟันแทะ?
ก. Overdose of Isofurane, Inhalation
ข. Potassium chloride only, IV injection
ค. Cervical dislocation, Body weight < 200 grams
ง. Overdose of Barbiturates, IP injection
4. การการุณยฆาตด้วยวิธีการใดที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Guillotines?
ก. Tribromoethanol injection
ข. Argon inhalation
ค. Decapitation
ง. Cervical dislocation
5. การการุณยฆาตสัตว์ฟันแทะด้วยวิธีการการใช้ CO2 จะต้องกำหนดให้ CO2ไหลออกจากแทงก์บรรจุเข้าสู่ของกล่องที่ใส่สัตว์ทดลอง ในอัตราไม่เกินร้อยละเท่าใดของปริมาตรกล่องต่อนาที?
ก. ร้อยละ 5
ข. ร้อยละ 10
ค. ร้อยละ 20
ง. ร้อยละ 30
เฉลยชุดคำถาม เรื่อง การการรุณยฆาตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (Euthanasia)
ข้อ 1. ก. The AVMV Guideline on Euthanasia of Animals: 2013 Edition
ข้อ 2. ง. Overdose of Barbiturates, IP injection
ข้อ 3. ข. Potassium chloride only, IV injection
ข้อ 4. ค. Decapitation
ข้อ 5. ง. ร้อยละ 30