ประโยชน์ของงานวิจัยในสัตว์ทดลองต่อมนุษย์และสัตว์

ประโยชน์ของงานวิจัยในสัตว์ทดลองต่อมนุษย์และสัตว์

“การทำการทดลองในสัตว์มีบทบาทสำคัญในการศึกษาและพัฒนาทางการแพทย์ โดยการใช้เป็นเครื่องมือในการทดสอบความปลอดภัยของยาและวัคซีน ตั้งแต่ยาในกลุ่มยาลดปวดธรรมดาไปจนถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ในช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา”

- มนุษย์ได้ประโยชน์อย่างไรจากการวิจัยในสัตว์ทดลอง?

            งานวิจัยในสัตว์ทดลองเป็นกระบวนการที่ช่วยให้เราศึกษาและค้นพบข้อมูลที่น่าอัศจรรย์ และเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ ยา รวมไปถึงกระบวนการในการปลูกถ่ายอวัยวะ การวางยาสลบ การถ่ายเลือด และอื่นๆ

            ตัวอย่างงานทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาโดยการทำการศึกษาในสัตว์ทดลอง

  • ยาพ่นขยายหลอดลม เพื่อการรักษาโรคหอบหืด: ยาพ่นขยายหลอดลมในรูปแบบของการใช้เพื่อการบรรเทาอาการหรือการป้องกันการเกิดโรคถูกพัฒนาขึ้นโดยการศึกษาในหนูตะเภาและกบ
  • วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ: การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ ทำให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนในปัจจุบันกลายเป็นโรคที่พบได้ยาก
  • ยาเคมีบำบัด สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว: การพัฒนายาเคมีบำบัดทำให้ปัจจุบันผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานอย่างน้อย 5 ปี ในขณะที่ในอดีตผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงภายในระยะเวลา 5 ปี
  • การปลูกถ่ายอวัยวะ: การปลูกถ่ายอวัยวะที่มีความสำคัญ เช่น ไตและหัวใจ โดยไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านตัวเองในตัวผู้รับ ถูกพัฒนาขึ้นจากการศึกษาในสัตว์ โดยทำให้ในปี ค.ศ.2009-2010 มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะถึง 3,700 คน

 

- การทำงานวิจัยในสัตว์ทดลองก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสัตว์ด้วยหรือไม่?

            ใช่ แน่นอนว่าการศึกษาเพื่อนำเอาความรู้ไปต่อยอดใช้ในมนุษย์ ก็เป็นประโยชน์แก่สัตว์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการผลิตยารักษาโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาได้ทั้งในคนและสัตว์ เช่น ยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ในสัตว์ ก็มีต้นกำเนิดมาจากการคิดค้นเพื่อใช้ในมนุษย์

  • โรคเบาหวาน: การคิดค้นวิธีการรักษาโรคเบาหวานด้วยการฉีดฮอร์โมนอินซูลิน ถูกพัฒนาขึ้นโดยการศึกษาในสุนัขและกระต่าย โดยในภายหลังอินซูลินก็ได้ถูกนำมาใช้รักษาโรคเบาหวานในสัตว์ด้วยเช่นเดียวกัน
  • การติดเชื้อแบคทีเรียพาสทูเรลลา (Pasteurellosis): การพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ในการป้องกันโรคนี้เกิดขึ้นจากงานวิจัยในลูกวัวกว่า 450 ตัว ซึ่งในปัจจุบันวัคซีนได้ถูกนำมาใช้ในการป้องกันการเกิดโรคจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในวัว ซึ่งมักก่อให้เกิดโรคทางระบบหายใจที่รุนแรงในวัว 1 ใน 5 ของวัวที่มีการสัมผัสกับเชื้อ

 

- ในอนาคต การพัฒนาในทางการแพทย์ยังจำเป็นที่จะต้องใช้การศึกษาในสัตว์ทดลองหรือไม่?

            จำเป็น แน่นอนว่าในการศึกษาบางจำพวกการทำการศึกษาในสัตว์ทดลองถือเป็นวิธีที่มีสำคัญและความเหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะในการศึกษาผลของยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะถูกนำไปใช้ในมนุษย์ ซึ่งจะต้องได้รับการทดสอบและยืนยันความปลอดภัยในการใช้ในสัตว์ก่อน และผลของของรักษาที่ทำการศึกษาควรออกมาในรูปแบบของการตอบสนองของร่างกาย รวมไปถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจริง และเนื่องจากการทำงานของร่างกายของคนและสัตว์เป็นการทำงานร่วมกันที่มีความซับซ้อนที่ไม่สามารถที่จะลอกเลียนแบบให้เกิดขึ้นในโมเดลการศึกษาแบบอื่น จึงยากที่จะถูกทดแทนด้วยวิธีการทดลองลักษณะอื่น

            โดยส่วนใหญ่การใช้สัตว์ทดลองมักจะถูกใช้ในการศึกษาผลของการรักษาด้วย เทคโนโลยีทางการแพทย์เหล่านี้

  • สเต็มเซลล์ (stem cell) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์เริ่มต้นจากการศึกษาในหนูเม้าส์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้รักษาโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจ, โรคกล้ามเนื้อฝ่อลีบ, โรคข้อเข่าเสื่อม, ตาบอด, โรคเบาหวาน, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease), โรคอัลไซเมอร์ และภาวะที่สมองหรือเส้นประสาทถูกทำลาย
  • พันธุกรรมบำบัด (gene therapy) สำหรับการรักษาโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้อฝ่อลีบ, โรคหลอดลมพอง (cystic fibrosis) และโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell disease)
  • วัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคอัลไซเมอร์, โรคไข้มาลาเรีย หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV/AIDS)
  • ฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) แบบกินหรือแบบสูดดม รวมไปถึงการปลูกถ่ายเซลล์เพื่อการรักษาโรคเบาหวาน แทนการฉีดยา

 

ในขณะที่การศึกษาในสัตว์ทดลองยังคงสร้างประโยชน์ในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีทางการแพทย์บาง

ชนิดอาจสามารถที่จะถูกพัฒนาและนำมาใช้ทดแทนการทำงานวิจัยในสัตว์ได้ เช่น การสร้างสเต็มเซลล์ที่มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา

 

- โรคในมนุษย์และสัตว์มีความแตกต่างกันอย่างไร?

            ส่วนใหญ่ของโรคที่เกิดขึ้นในมนุษย์ มักจะถูกพบว่าก่อให้เกิดโรคในสัตว์ชนิดอื่นได้เช่นกัน นอกจากนี้แนวทางในการรักษาในเชิงของสัตวแพทย์และแพทย์ก็มีความคล้ายคลึงกัน

 

- มีวิธีการศึกษาอื่นที่สามารถใช้เป็นทางเลือกทดแทนการศึกษาในสัตว์หรือไม่?

            แน่นอนว่า บรรดานักวิจัยในปัจจุบันล้วนมีวัตถุประสงค์ในการที่จะหาหรือพัฒนาวิธีการทำงานวิจัยรูปแบบอื่น เพื่อนำมาใช้ทดแทนการใช้สัตว์ทดลอง ภายใต้หลักการ 3R คือ การใช้วิธีอื่นทดแทน (replacement), การคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ (refinement) และ การลดปริมาณการใช้สัตว์ (reduction) และเหตุผลที่มีความเกี่ยวข้องในแง่ของจริยธรรม รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูงในการทำงานวิจัย ในปัจจุบันหากมีวิธีการที่เหมาะสมและสมเหตุสมผลที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนการใช้สัตว์ทดลองการขอใช้สัตว์เพื่อการศึกษาดังกล่าวอาจถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.)

 

อ้างอิง จาก www.UnderstandingAnimalresearch.org.uk